ศาสนา
ศาสนาดั้งเดิม: ศาสนาเทพีแห่งดวงจันทร์ (Goddess of the Moon)
เทพีเวนอล
เทพีเป็นสตรีงดงามผู้ถือครองคันศรและอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ ยามเดินทางมาเวนอลเพื่อให้คำอำนวยพรแด่จักรวรรดิซึ่งเป็นที่รัก นางจะแปลงกายเป็นสาวงามที่แต่งกายคล้ายนางรำและทรงมังกรจันทราอันเป็นพาหนะ พระนางทรงโปรดปรานการร่ายรำและชื่นชอบศิลปะวิทยาการ เมื่อมีพิธีที่กล่าวถึงเทพีแห่งดวงจันทร์จึงมักมีนางรำร่วมพิธี
ปัจจุบัน ความสำคัญของศาสนาในวัฒนธรรมเวนอลลดน้อยลงไปมากพร้อมกับความถดถอยของจักรวรรดิ กระนั้นก็ยังคงมีเทศกาลและงานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับเทพีเวนอล เนื่องจากเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม
“เทวีแห่งจันทราตรัสไว้ ลูกๆทั้งหลายเอ๋ย จงยินดีที่ได้เป็นเวนอล เมื่อเจ้าเกิดในเวนอล ล้วนเป็นเลือดเนื้อแห่งเวนอล พวกเจ้างดงาม พวกเจ้าสมบูรณ์แบบ พวกเจ้าพร้อมสรรรพ”
เทพีแห่งดวงจันทร์ หรือ เทพีเวนอล นั้นได้สร้างรากฐานความเชื่อและความศรัทธามาตั้งแต่ยุคก่อนที่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ สำหรับเวนอลแล้ว เทพีแห่งดวงจันทร์นั้นถือได้ว่าเป็นเทพีผู้พิทักษ์ ว่ากันว่าเมื่อครั้งอดีตกาล เทพีแห่งดวงจันทร์ได้อำนวยพรให้ปฐมกษัตริย์เวนอลนำทัพชนะเหนือชนเผ่าคนเถื่อนมากมาย หลังจากที่ได้ตั้งรกรากแล้ว องค์เทพีก็ได้แผลงศรไปยังยอดเขา กำเนิดแม่น้ำที่คอยหล่อเลี้ยงผู้คนชาวเวนอลทุกหมู่เหล่า ความชุ่มชื้นของผืนดินเหมาะแก่การทำการเกษตรกรรมเพาะปลูก อีกทั้งเทพียังวาดมือผ่านเทือกเขาตะวันตก กำเนิดสายแร่อัญมณีล้ำค่ามากมาย จึงได้ชื่อว่าเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วย จึงกำเนิดเทศกาลรำบูชาเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ เพื่อวิงวอนขอคำอำนวยพรจากเทพธิดา ให้พืชผลที่เพาะปลูกออกดอกออกผลตลอดทั้งปี และให้คนงานเหมืองแคล้วคลาดปลอดภัยจากอุบัติเหตุภยันตราย
“เทวีจันทรามีเมตตาเหนือทุกผู้ แผ่นดินคือเนื้อ แม่น้ำคือเลือด จงกินดื่มด้วยความเต็มใจและสำนึกรู้ในคุณของสรรพสิ่งที่พวกเจ้าได้ใช้”
ว่ากันว่าเทพีแห่งดวงจันทร์นั้นเป็นสตรีที่งดงาม ซึ่งจะปรากฎรูปลักษณ์ตามความเชื่อว่าเป็นหญิงสาวที่แต่งกายคล้ายนางรำ ในมือถือคันศร ทรงมังกรจันทราเป็นพาหนะ ด้วยความที่องค์เทพีมีความโปรดปรานการร่ายรำและผลงานศิลปะ จึงได้ชื่อว่าเป็นเทพีแห่งศิลปวิทยาการด้วย
ศาสนาเทพีแห่งดวงจันทร์นั้นถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เริ่มมีการก่อตั้งอาณาจักร ในช่วงยุคแรกเริ่มนั้น ผู้คนมีความศรัทธาในเทพีแห่งดวงจันทร์มาก เมื่อศิลปวิทยาการเจริญถึงขีดสุดจึงได้มีการแกะสลักประติมากรรมมังกรจันทราผู้พิทักษ์ขนาดมหึมาขึ้น (ปัจจุบันถูกตั้งไว้ที่หน้าประตูเมืองหลวง) และมีการแกะสลักงานประติมากรรมหินอ่อนเทพีแห่งจันทราทรงแผลงศร ปัจจุบันได้ถูกตั้งอยู่ ณ มหาวิหารเทพีแห่งจันทรา ในฐานะรูปเคารพเพื่อให้ผู้ศรัทธาคอยกราบไหว้
นักบวชแห่งวิหารเทพีจันทรานั้นไม่จำกัดเพศ สามารถเป็นได้ทั้งหญิงและชาย ไม่มีข้อห้ามในการแต่งงาน แต่ส่วนใหญ่จะไม่นิยมแต่งงานเพราะมีความเชื่อว่าควรถวายทั้งกายและใจให้เทพีแห่งจันทราแต่เพียงผู้เดียว โดยนักบวชนั้นจะทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในวิหาร เผยแผ่คำสอน ประสาทพรให้ผู้ศรัทธา และเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรมสำคัญต่างๆในเวนอล
ปัจจุบันแม้ความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาจะลดน้อยลงไปมาก แต่ก็ยังได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากผู้มีจิตศรัทธา และจากงบประมาณประเทศ เนื่องจากเป็นศาสนาเก่าแก่ที่อยู่คู่อาณาจักรมาอย่างช้านาน จึงถือเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย
คำสอน 7 ประการ
-
จงบูชาเทพีแห่งจันทราทั้งกายและใจ
-
จงมอบความรักให้ทุกคน
-
จงมอบความเมตตาให้ผู้ที่สมควรจะได้รับ
-
จงซาบซึ้งยินดีกับชีวิต
-
จงไขว่คว้าความสุข
-
เมื่อทำลายแล้ว จงทดแทนให้ยิ่งกว่า
-
จงสำนึกกับสิ่งที่ตนก่อ
อย่างไรก็ดี ทางวิหารเทพีแห่งจันทรานั้นยังมีความเชื่อว่าเทพีมักจะสื่อสารกับผู้คนผ่านทางผู้เผยพระวจนะ ฉะนั้นแล้วคำกล่าวของผู้เผยพระวจนะย่อมไม่แพ้คำกล่าวของเทพีแห่งดวงจันทร์ แต่จะถูกบันทึกแยกลงในคัมภีร์ของผู้เผยพระวจนะ จะไม่นำมาปนกันกับคัมภีร์คำสอนดั้งเดิมของเทพีแห่งจันทรา
การจัดแท่นบูชาเทพีแห่งจันทรา
ในการจัดแท่นบูชาเทพีแห่งจันทรานั้น จะต้องคำนึงถึงตำแหน่งการจัดตั้งแท่นบูชา จะต้องจัดวางให้เหมาะสม ห้ามมีสิ่งอื่นวางขวางรูปสลักขององค์เทพี โดยทั่วไปมีของประดับ ดังนี้
-
รูปสลักเทพีแห่งจันทรา
-
เทียนหอม 2 เล่ม
-
ช่อดอกมูนฟลาวเวอร์
-
ขวดน้ำมันหอมของดอกไม้นานาพรรณ
รูปโดย: Demi_Dream
ขั้นตอนการบูชาเทพีแห่งจันทรา
-
เมื่อจัดแท่นบูชาเสร็จสิ้นแล้ว ให้จุดเทียนหอม 2 เล่ม โดยเริ่มจากซ้ายและไปขวา
-
ถวายน้ำมันหอม โดยการพรมลงบนรูปสลักเทพีแห่งจันทรา
-
นำนิ้วชี้และนิ้วโป้งทั้งสองข้างประกบกันเป็นรูปวงกลม และกล่าวบูชา
โดยปกติแล้วคำกล่าวบูชาจะไม่มีรูปแบบตายตัว แต่จะนิยมกล่าวบูชาองค์เทพีและอธิษฐานขอพรให้เทพีคุ้มครองตน
การประสาทพร
การประสาทพรนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่นักบวชชั้นฝึกหัดเป็นต้นไป โดยจะนำน้ำมันหอมหนึ่งหยดแตะลงบนหน้าผากของผู้ศรัทธา นำนิ้วชี้และนิ้วโป้งทั้งสองข้างประกบกันเป็นรูปวงกลม แล้วกล่าวอวยพร (โดยปกติแล้วจะอวยพรให้สุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยหากผู้ศรัทธาประสงค์จะกล่าวขอพรในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงก็สามารถขอได้)
เชื่อกันว่ายิ่งยศทางศาสนาของผู้ประสาทพรให้สูงเท่าไร คำประสาทพรก็ยิ่งทรงพลังมากขึ้น