การปกครอง
สมบูรณาญาสิทธิราชย์อันมีกษัตริย์เป็นประมุข สืบทอดอำนาจแก่บุตรคนโต โดยที่สตรีสามารถขึ้นเป็นจักรพรรดินี และสามารถมีผู้แทนพระองค์กรณีรัชทายาทยังไม่พร้อมสืบบัลลังก์
การปกครองภาคกลาง (เมืองหลวง)
กษัตริย์เป็นประมุข โดยมีเสนาบดีกรมต่างๆเป็นสภาที่ปรึกษา ช่วยดูแลแบ่งภาระในส่วนการปกครองหลายภาคส่วน สภาที่ปรึกษาประกอบไปด้วย: เสนาบดีกรมวัง, เสนาบดีกรมการคลัง, เสนาบดีกรมการค้าและการคมนาคม, เสนาบดีกรมการศึกษา, เสนาบดีกรมศิลปะ, เสนาบดีกรมอุตสาหกรรม, เสนาบดีกรมเกษตร, เสนาบดีกรมทหาร
เสนาบดีมีงบประมาณสำหรับการดำเนินนโยบายต่างๆและถูกตรวจสอบประจำปีโดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนการตัดสินใจใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณเยอะจะต้องร่างแผนงานโครงการต่อกษัตริย์เพื่อขออนุมัติ
การปกครองแบบแบ่งภาค
ดินแดนเวนอลแบ่งเป็นห้าภาคการปกครอง โดยแต่ละภาคยกเว้นภาคกลางจะมีเจ้าเมืองควบคุมดูแลการเก็บภาษีเข้าวังและรักษากฎระเบียบความปลอดภัย ใช้แนวคิดประชาชนจ่ายภาษีแก่ขุนนาง ขุนนางปกป้องประชาชน
ปกติทางการมีการกำหนดงบประมาณให้แต่ละภาคในแต่ละปีให้เจ้าเมืองได้ใช้สอยพัฒนาภูมิภาค ถ้าต้องการงบเพิ่มเติมต้องยื่นเรื่องขออนุมัติ เจ้าเมืองต้องถูกตรวจสอบโดยผู้ตรวจการแผ่นดินเช่นกัน
การรับราชการ
มีการสอบเข้าเพื่อรับราชการ แต่หากต้องการสอบผ่านควรมีเส้นสาย เนื่องจากขุนนางมักดึงบุตรหลานขึ้นไปรับราชการ ทำให้การสอบเข้าไม่ยุติธรรมนัก หากเป็นชนชั้นประชาชนก็ต้องมีความสามารถมากจนเตะตาผู้คัดเลือก
ยศขุนนาง
ยศขุนนางมีวิธีได้มาสองแบบ 1. สืบทอดกันด้วยสายเลือด 2. ทำคุณงามความดีให้ประเทศชาติ
ยศสามารถประทานโดยจักรพรรดิและสืบทอดให้บุตรคนโตเท่านั้น ไม่เกี่ยงชายหญิง มักเรียกกันว่า’ลอร์ด’ หรือ ‘เลดี้’ ไม่มีคำเรียงแบ่งพิเศษ ทุกระดับเรียกเหมือนกันหมด แต่การแบ่งยศจริงๆจะเรียกเป็นตัวเลข “ขุนนางขั้นหนึ่งถึงขั้นห้า”
การคัดเลือกจักรพรรดิ
เมื่ออายุได้ครบ10ปีรัชทายาทจะถูกส่งไปเดินทางเร่ร่อนจนกระทั่งเติบใหญ่ จึงสามารถกลับมาพิสูจน์ตน
ในการพิสูจน์ตนต้องตอบคำถามจากราชครู อันมีสักขีพยานเป็นสภาที่ปรึกษา เจ้าเมือง ตัวแทนประชาชน และจักรพรรดิ วิถีเวนอลเชื่อว่าผู้ปกครองต้องได้รับการยอมรับจากผู้ใต้ปกครอง และมีคำกล่าวโบราณว่า‘ราชาที่ไม่มีคนให้ปกครองก็ไม่อาจเป็นราชา’
ความเท่าเทียมทางเพศ
แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศถูกบุกเบิกโดยจักรพรรดินีคนแรกของเวนอล ประวัติศาสตร์ระบุว่าพระนางเข้าร่วมสงครามภายในและชิงบัลลังก์มาจากพี่ชายผู้วิปริต จากนั้นก็เริ่มบัญญัติกฎหมายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ แม้ขุนนางและผู้ที่รับราชการส่วนใหญ่ยังเป็นชายแต่สตรีก็สามารถรับราชการและบริหารประเทศ กระนั้นในปัจจุบันก็ยังมีแนวคิดที่ว่าบุรุษเหนือกว่าสตรีหลงเหลือในสังคมอยู่มาก